ความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร

ความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร

กฎหมายระหว่างประเทศคือหลักกฎหมายหรือข้อตกลงที่มีร่วมกันเพื่อใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ โดยกฎหมายระหว่างประเทศเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนคริสต์กาล และวิวัฒนาการมาเรื่อยๆด้วยการยึดหลักปฎิบัติต่อกันทั้งด้านจารีตประเพณี สนธิสัญญา จนมากลายเป็นแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมา

กล่าวสรุปได้ว่า เป็นกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อให้ประเทศต่างๆสามารถดำเนินการติดต่อสัมพันธ์กันให้เป็นไปตามกฎที่กำหนดหรืออยู่ในกรอบข้อตกลงยินยอมระหว่างกันไม่ว่าในยามปกติ หรือเกิดภาวะสงคราม ซึ่งจะมีความแตกต่างกับกฎหมายภายในประเทศ

ซึ่งหากจะว่าไปจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ คือความยินยอมที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของเหล่าบรรดาประเทศต่างๆ โดยมาจาก 2 ทางคือ

  1. จารีตประเพณี คือ การที่รัฐยินยอมให้ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ในระยะเวลายาวนานพอสมควร จนกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความผูกพันโดยไม่จำเป็นต้องมีลายลักษณ์อักษรมาเป็นข้อกำหนด
  2. สนธิสัญญา การที่ทำข้อตกลงระหว่างกันของรัฐอย่างชัดเจนและเปิดเผย รวมทั้งมีการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้มีการบังคับปฎิบัติเฉพาะคู่สัญญา

กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาขา

  1. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คือ กฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในฐานะที่รัฐเป็นนิติบุคคล แผนกนี้จึงจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการฑูต การทำสนธิสัญญา และการทำสงคราม
  2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เป็นกฎหมายที่นำมาบังคับเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ถือว่าเป็นพลเมืองของรัฐในทางแพ่ง เช่น เรื่องการสมรส การหย่า การได้สัญชาติ หรือการสูญเสียสัญชาติเป็นต้น
  3. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา เป็นกฎหมายที่นำมากำหนดด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในคดีอาญา เมื่อพลเมืองของรัฐมีการกระทำผิดกฎหมายอาญา เช่น การกำหนดอำนาจที่จะใช้บังคับและปฎิบัติต่อชาวต่างประเทศ

ความแตกต่างของกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายในประเทศ พอสังเขปดังนี้

  1. ความสัมพันธ์ที่มีข้อบังคับ กฎหมายระหว่างประเทศสามารถใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในขณะเดียวกันที่กฎหมายในประเทศจะบังคับความเกี่ยวข้องกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือระหว่างเอกชนด้วยกัน
  2. กฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นมาจากธรรมเนียมปฎิบัติที่มีต่อกันระหว่างประเทศมีสนธิสัญญา แต่หากเป็นกฎหมายภายในประเทศเกิดขึ้นมาจากขนบธรรมเนียมภายในอาณาเขตของประเทศใด ประเทศหนึ่ง หรือการถูกบัญญัติขึ้นด้วยสถาบันนิติบัญญัติของประเทศนั้นๆเอง
  3. การตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดให้รัฐใดมีอำนาจเหนืออีกรัฐหนึ่ง แต่เป็นการจรรโลงความสัมพันธ์ระหว่างอธิปไตยไว้ ส่วนการใช้อำนาจบังคับของกฎหมายนั้น บางครั้งกฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในประเทศ แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะไม่ยอมรับไม่นำเอากฎหมายภายในประเทศใดประเทศหนึ่งมาเป็นหลักในการพิจารณาคดีพิพาทระหว่างประเทศโดยเป็นอันขาด