ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนคืออะไร
กฎหมายมหาชน (Public Law) คือกฎหมายว่าด้วยการกำหนดสถานะ และนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชนหรือจะเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ซึ่งในสถานะที่รัฐมีอำนาจเหนือเอกชน โดยกรณีของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐมีนิติสัมพันธ์ในระดับเดียวกับเอกชน นิติสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะตกอยู่ภายใต้กฎหมายเอกชนในทันที โดยทั่วไปสามารถแบ่งกฎหมายมหาชนได้เป็น 5 ประเภท คือ
- รัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยกำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย รวมทั้งการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
- กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญ เพื่อบัญญัติเกี่ยวกังองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการปฎิบัติต่างๆตามข้อกฎหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในข้อที่เกี่ยวพันกับรัฐ
- กฎหมายอาญา คือกฎหมายที่บัญญัติเพื่อครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของภาครัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย เพื่อความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
- กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอ่ญาทางศาล
- พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดไว้ว่าการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีปะเภทใด
โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าอะไรคือกฎหมายมหาชนจากแนวคิดทฤษฎี ดังต่อไปนี้
- พิจารณาจากคู่กรณีหรือความสัมพันธ์ ซึ่งต้องมีคู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ หรือผู้ที่ใช้อำนาจรัฐอันถือว่าเป็นอำนาจมหาชนเสมอ
- พิจารณาจากบทลงโทษ การบังคับโทษทางกฎหมาย คือ มีลักษณะที่ว่าด้วยการบังคับโทษจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐเข้ามาดำเนินการ อาทิเช่น กฎหมายอาญาที่มีโทษปรับและจำคุกเป็นต้น ก็จัดได้ว่าเป็นกฎหมายมหาชน
- พิจารณาจากลำดับศักดิ์ของกฎหมาย คือหากเป็นหน่วยงานของรัฐออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป ก็ถือว่าเป็นกฎหมายมหาชนเช่นกัน
- พิจารณาจากบริบทของเนื้อความ หมายถึงเนื้อความของกฎหมายตั้งขึ้นบนความไม่เสมอภาค สาเหตุจากมีอำนาจมหาชนเข้ามาเป็นตัวแปร หากว่าอำนาจมหาชนย่อมสื่อให้เห็นว่ามีอำนาจที่เหนือกว่า ความไม่เสมอภาคนี้จึงเป็นหลักของกฎหมายมหาชน ที่สามารถนำมาพิจารณาว่าอะไรคือกฎหมายมหาชน จากที่ว่าเนื้อความมีความไม่เสมอภาค เพราะผู้ที่ใช้อำนาจมหาชนเป็นผู้ที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นเมื่อทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้วก็ต้องได้รับอำนาจมหาชนมาบังคับปัจเจกบุคคลที่ใช้อำนาจเอกชนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
ในส่วนของกฎหมายคือเป็นระบบของกฎและแนวทางปฎิบัติซึ่งบังคับใช้ผ่านสถาบันทางสังคม เพื่อนำมาควบคุมพฤติกรรม ในทุกที่ที่เป็นไปได้ให้ดำรงอยู่ในความถูกต้อง